วันอังคาร

การประชุมอาเซียน


การประชุมผู้นำรัฐสมาชิกอาเซียน เรียกเป็นทางการว่า "ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "ASEAN SUMMIT" จัดขึ้นโดย สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ถูกตั้งขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งการประชุมอาเซียนนั้น จะมีผู้นำแต่ละประเทศเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของกลุ่มประเทศอาเซียน









          คำว่า "SUMMIT" เป็นภาษาอังกฤษ หมายถึง จุดปลายสุดของยอดเขา ความสำเร็จสูงสุดของกิจการหรือกิจกรรมใดๆ แต่ในทางรัฐศาสตร์ แต่คำว่า "SUMMIT" หมายถึง การประชุมระดับสูงสุดของผู้นำรัฐบาล หรือผู้นำสูงสุดขององค์กรใดๆ ที่จัดการประชุม

ประวัติความเป็นมา 

          สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ก่อตั้งปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) ขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ณ วังสราญรมย์ ในกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ...

          
 นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

          
 ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ประเทศมาเลเซีย

          
 นายนาชิโช รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

          
 นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐสิงคโปร์

          
 พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย

          การก่อตั้งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธํารงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง สร้างสรรคค์ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม การกินดีอยู่ดี บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน

          ต่อมากลุ่มอาเซียนก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก โดย บูรไนดารุสซาลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกในลําดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2527 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าเป็นสมาชิกลําดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2538 และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสหภาพพม่า เข้าเป็นสมาชิกพร้อมกัน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ต่อมา กัมพูชา ก็เข้าเป็นประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2542 ทําให้ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกรวมทั้งหมด 10 ประเทศ

          
สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปลี่ยนผ่านจากสภาวะแห่งความตึงเครียด และการเผชิญหน้า มาสู่สภาวะที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคงและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นตัวอย่างของการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีบทบาท และพลังต่อรองในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทําให้มีประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น และมีหลายประเทศในโลกสนใจที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์และกระชับความร่วมมือกับอาเซียนในฐานะคู่เจรจา (Dialogue Partner) 

          
ซึ่งในปัจจุบันอาเซียนมีคู่เจรจา 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐเกาหลี, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน, รัสเซีย และ 1 กลุ่มประเทศ คือ สหภาพยุโรป รวมทั้ง 1 องค์การระหว่างประเทศ คือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) โดยอาเซียนกับคู่เจรจาเหล่านี้จะมีการปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในลักษณะการประชุมระดับเจ้าหน้าที่และการประชุมระดับรัฐมนตรี

          ความก้าวหน้าของอาเซียนดังกล่าว มีปัจจัยที่สําคัญจากความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก อันก่อให้เกิดบรรยากาศที่สร้างสรรค์ต่อความร่วมมือ และความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยความร่วมมือในอาเซียน ที่สําคัญๆ ได้แก่...
           
ความร่วมมือทางการเมือง

          
อาเซียนตระหนักดีว่า ภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง และความเป็นกลางจะเป็นพื้นฐานสําคัญ  ที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้า จึงได้ร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และสร้างเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันในระหว่างประเทศสมาชิก ผลงานที่สําคัญที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ คือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) การประกาศให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality: ZOPFAN ) การก่อตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และ สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone Treaty: SEANWFZ)
           
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

          ปรากฏการณ์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลก และการแข่งขันทางการค่าที่เพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยสําคัญที่ผลักดันให้อาเซียนตระหนักถึงความจําเป็นที่จะต่องรวมตัวกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อปรับแนวการดําเนินนโยบายของตนให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในปี พ.ศ.2535 อาเซียนจึงได้ตกลงจัดตั้งเขตการค่าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยการลดภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าส่งออกของกันและกัน และดึงดูดการลงทุนจากภายนอกภูมิภาคให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เขตการค่าเสรีอาเซียนนี้จะบรรลุผลสมบูรณ์สําหรับสมาชิก 6 ประเทศแรกใน พ.ศ.2546 ตามด้วยเวียดนาม ในปี พ.ศ.2549 ลาวและพม่า ใน พ.ศ.2551 และกัมพูชาใน พ.ศ.2553

          นอกจากนี้ อาเซียนยังได้มีมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการค้าการลงทุน และความร่วมมือกันในด้านอุตสาหกรรม การเงินและการธนาคาร และการบริการระหว่างกัน ที่สําคัญ ได้แก่ โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation: AICO ) และ เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA ) เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้อาเซียนเติมโต มีความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และมีความมั่งคั่งร่วมกัน อาเซียนจึงได้มีข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI ) ขึ้น เพื่อที่จะลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและใหม่ของอาเซียนด้วย
          
 ความร่วมมือเฉพาะด้าน

          
นอกจากความร่วมมือทางการเมือง และเศรษฐกิจแล้ว อาเซียนยังให้ความสําคัญต่อความร่วมมือเฉพาะด้าน (Functional Cooperation) ระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ ความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและสนเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการต่อต้านยาเสพติด ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่สําคัญในการพัฒนาประเทศ โครงการความร่วมมือเฉพาะด้านระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนนี้มีจํานวนมาก และครอบคลุมในทุกด้าน และมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาคมอาเซียนมี "ความไพบูลย์ร่วมกัน โดยการพัฒนาคน ความสามารถ ในการแข่งขันทางเทคโนโลยี และความเป็นปึกแผ่นทางสังคม" โครงการความร่วมมือที่สําคัญในด้านนี้ ได้แก่ การจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน การประกาศให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติด

          ในปี พ.ศ.2558 แผนการดําเนินงานตามแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งทั่วทั้งภูมิภาค เป็นต้น นอกจากนี้ อาเซียนยังได้จัดตั้งมูลนิธิอาเซียน เพื่อเสริมสร้างจิตสํานึกในความเป็นอาเซียน และพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน
          
 วัตถุประสงค์

          ปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) ได้ระบุว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของอาเซียน คือ

          
1. เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาวัฒนธรรมในภูมิภาค

          2. ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยการเคารพหลักความยุติธรรมและ หลักนิติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ตลอดจนยึดมั่นในหลักการแห่ง กฎบัตรสหประชาชาติ


          ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ใน พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรอง "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020" (ASEAN Vision 2020) โดยเห็นพ้องกันในวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียนที่จะเป็นวงสมานฉันท์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก การใช้ชีวิตในสภาพที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ผูกมัดกันเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ที่มีพลวัตและในประชาคมที่มีความเอื้ออาทรระหว่างกัน

          พ.ศ.2546 ผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ภายใน พ.ศ.2563 ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศอาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ.2558 









ประชุมอาเซียนแต่ละปี จัดที่ไหนอย่างไร 

          
การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 1 จัดที่เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519/ค.ศ.1976 หลังกำเนิดอาเซียนถึง 9 ปี อาเซียนในเวลานั้น มีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนมาด้วยกันโดยการประกาศปฏิญญาที่กรุงเทพฯ การที่ผู้นำประเทศไม่มีโอกาสประชุมร่วมพร้อมๆ กันอย่างเป็นทางการนานถึง 9 ปี หลังกำเนิดอาเซียน สะท้อนความสัมพันธ์ที่ยังไม่แนบแน่น และความไม่พร้อมในการร่วมประสานประโยชน์ของชาติระหว่างกัน 

          กาลเวลาผ่านไป หลังการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 1 แล้ว อาเซียนจัดการประชุมสุดยอดผู้นำบ่อยขึ้น แม้จะไม่เป็นประจำทุกปี

          
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 2 จัดที่กัวลาลัมเปอร์ ในปีถัดมา ว่างเว้นไป 10 ปี จึงจัดการประชุม ครั้งที่ 3 ที่มะนิลา อีก 5 ปี พบกันอีกครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งแรก ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2538 ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่ 5ครบการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมของ 5 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน สรุปว่ามีการประชุมสุดยอดกัน 5 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 28 ปี จากนั้นผู้นำอาเซียนก็พบกันแบบไม่เป็นทางการสองครั้ง ที่อินโดนีเซีย ในปี พ.ศ.2539 และ ที่มาเลเซีย ปี พ.ศ.2540

          
ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 6 จัดที่ ฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หลังเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกใหม่ 3 ปี มีการประชุมสุดยอดแบบไม่เป็นทางการคั่นอีกสองครั้งที่ ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์จากนั้น บรูไนดารุสซาลาม สมาชิกลำดับที่ 6 อาสาเป็นเจ้าภาพ ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ.2544 และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเริ่มจัดเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องจากนั้นเป็นต้นมา

          
ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ.2545 ที่พนมเปญ ครั้งที่ 9 ปี พ.ศ.2546 ที่ บาหลี อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 10 จัดที่เวียงจันทน์ ปี พ.ศ.2547 รัฐบาลลาวในฐานะรัฐสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้ามาได้ 7 ปี ทุ่มเทหัวใจให้กับการเป็นเจ้าภาพถึงขนาดลงทุนสร้างบ้านพักใหม่ทั้งหมด ให้กับผู้นำอาเซียนทุกคนได้พักอยู่ระหว่างการประชุม ได้บรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน มิใช่อยู่โรงแรมดังที่จัดการกันโดยทั่วไป ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 11 จัดที่กัวลาลัมเปอร์ พ.ศ.2548 เป็นรอบที่สองของเจ้าภาพมาเลเซีย แต่เกิดภัยธรรมชาติและปัญหาแทรกซ้อนทางการเมืองในประเทศ ทำให้ฟิลิปปินส์ขอเลื่อนการประชุมสุดยอด ครั้งที่ 12 ข้ามปี พ.ศ.2549 ไปจัดในปี พ.ศ.2550 ที่เมือง Cebu ซึ่งงานนี้ฟิลิปปินส์ก็จัดอย่างยิ่งใหญ่สมกับที่ต้องรอคอย

          
ASEAN SUMMIT  ครั้งที่ 13 ครั้งล่าสุดที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ จัดระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 สิงคโปร์หมดวาระการเป็นประธานอาเซียน ส่งต่อหน้าที่ตามลำดับอักษรชื่อประเทศให้กับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มเป็นประธานอาเซียนมาตั้งแต่ เดือนสิงหาคมปี พ.ศ.2551 กำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนตามหน้าที่ ซึ่งจะมีโอกาสเดียวในรอบ 10 ปี โดยจะจัดที่กรุงเทพฯ เดือนธันวาคม พ.ศ.2551

          แต่ปัญหาการประท้วงทางการเมืองทำให้รัฐบาลไทยต้องพยายามอย่างหนักในการยึดกำหนดการเดิมและรักษาชื่อเสียงของชาติไว้ โดยไม่เลื่อนและย้ายสถานที่ประชุมไปจังหวัดเชียงใหม่ แต่แล้วก็จำต้องเลื่อนการประชุมออกไป ด้วยความผันแปรทางการเมืองที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ท่ามกลางความแตกต่างด้านนโยบายและพื้นฐานความคิดทางการเมืองของทั้งสองพรรค มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความมุ่งมั่นที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของอาเซียน และหนักแน่นในการรักษาชื่อเสียงเกียรติภูมิของชาติในการเป็นประธานอาเซียน และการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนต่อไป

          
ซึ่งกำหนดการใหม่ของการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 จะจัดระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม พ.ศ.2552 ที่โรงแรมดุสิตรีสอร์ท ชายหาด อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          ทั้งนี้ ไทยได้รับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน ครั้งที่ 14 ที่สิงคโปร์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ เนื่องจาก...

          
1. กฎบัตรอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ

          2. มีการจัดทำแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ.2558

          3. อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่คนไทย คือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน (วาระ 5 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2551 - 31 ธันวาคม พ.ศ.2555)


          โดยที่กฎบัตรอาเซียนกำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นไปตามปีปฏิทิน ดังนั้น หากกฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ภายในปี 2551 ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนคือ ตั้งแต่ กรกฎาคม พ.ศ.2551 – ธันวาคม พ.ศ.2552 แต่หากกฎบัตรฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ไทยจะส่งมอบตำแหน่งประธานให้เวียดนามภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 ตามแนวปฏิบัติเดิม

          ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (อาเซียนที่ยังไม่มีและมีกฎบัตร) ไทยมีภารกิจต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน 3 ครั้ง โดยกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 วันที่ 15-18 ธันวาคม พ.ศ.2552 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ปลายปี พ.ศ. 2552 รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Summit Retreat) ในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2552

          นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการร้องขอ จากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN FMs’ Retreat) ที่สิงคโปร์ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.2552 ด้วย นอกจากนี้ ในระหว่างการเดินทางเยือนไทยของเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 ไทยได้เสนอที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2551 ด้วย ขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างไม่เป็นทางการจากเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว


โครงสร้างอาเซียนและประเทศในกลุ่มประชุมอาเซียน

          
องค์กรสูงสุดของอาเซียน คือ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนหรือที่ประชุมของประมุข หรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Summit) โดยจะมีที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ (ASEAN Ministerial Meeting) และที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers’ Meeting) เป็นองค์กรระดับรอง และอาจมีที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านอื่นๆ ด้วย การประชุมระดับผู้นำและรัฐมนตรีถือเป็นองค์กรระดับนโยบายชั้นสูง รองลงมาจะเป็นที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือระดับปลัดกระทรวง (Senior Officials’ Meeting -SOM) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายของที่ประชุมระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรี

          ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee -ASC) ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมอาเซียนของประเทศสมาชิก จะทำหน้าที่กำหนดแนวทาง และเร่งรัดการดำเนินการตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน และที่ประชุมระดับรัฐมนตรี รวมทั้งให้ความเห็นชอบโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ ภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียน กับประเทศคู่เจรจา ตลอดจนรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนจะตัดสินใจในเรื่องใดๆ โดยใช้ฉันทามติ

          นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สาม (ASEAN Committee in Third Countries) ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศคู่เจรจาทั้ง 10 ประเทศ และในประเทศอื่นๆ ที่อาเซียนเห็นสมควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียน ในประเทศที่สามจะทำหน้าที่ให้ข้อมูล และวิเคราะห์ท่าทีของประเทศที่คณะกรรมการอาเซียนตั้งอยู่

          สำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก มีเลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าผู้บริหารสำนักงาน เลขาธิการอาเซียนจะได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งโดยประเทศสมาชิก (ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศสมาชิก) และมีรองเลขาธิการอาเซียน 2 คน มาจากประเทศสมาชิกอาเซียนเรียงลำดับตามตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษของประเทศ และมีหน่วยงานเฉพาะด้านที่ดำเนินความร่วมมือ ในด้านต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

          
ในขณะที่กรมอาเซียนของประเทศสมาชิก จะทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการแห่งชาติของแต่ละประเทศ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของประเทศตนในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือในสาขาต่างๆ นโยบายหลักในการดำเนินงานของอาเซียนเป็นผลมาจากการประชุมหารือในระดับหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีในสาขาความร่วมมือต่างๆ ของประเทศสมาชิก

          อย่างไรก็ดี โครงสร้างของอาเซียน รวมทั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนตามที่กล่าวมาข้าวต้นกำลังจะถูกปรับเปลี่ยนตามกฎบัตรอาเซียนที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2552
ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่...

          
 บรูไนดารุสซาลาม
          
 ราชอาณาจักรกัมพูชา
          
 สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
          
 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
          
 สหพันธรัฐมาเลเซีย
          
 สหภาพพม่า
          
 สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
          
 สาธารณรัฐสิงคโปร์
          
 ราชอาณาจักรไทย
          
 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

                                                

สัญลักษณ์และเพลงอาเซียน

          สัญลักษณ์ของอาเซียน เป็นรวงข้าวสีเหลือง 10 มัด หมายถึงการที่ประทเศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศมารวมกันเพื่อมิตรภาพ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขอบแดงสีขาวและน้ำเงิน ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกภาพ

          
มีตัวอักาษรคำว่า "asean" สีน้ำเงินอยู่ใต้ภาพ อันแสดงถึง ความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันตภาพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน

          สีทั้งหมดที่ปรากฏในสัญลักษณ์ของอาเซียน เป็นสีสำคัญที่ปรากฏในธงชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน โดย สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพ และความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ และความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
เพลงประจำอาเซียน

          เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประกวดแข่งขันเพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem Adjudicators’ Panel - A3P) รอบสุดท้ายขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อคัดเลือกเพลงชนะเลิศจากเพลงที่เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 10 เพลง โดยมีพลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี เป็นประธานกรรมการและกรรมการฝ่ายไทย

          
คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ คือ Mr. Haji Manaf bin Haji Kamis จากบรูไนฯ Dr. Sam Ang Sam จากกัมพูชา Mr. Purwa Caraka จากอินโดนีเซีย Mr. Khamphanh Phonthongsy จากลาว Mr. Ayob Ibrahim จากมาเลเซีย Mr. Tin Oo Thaung จากพม่า Mr. Agripino V. Diestro จากฟิลิปปินส์ Mr. Phoon Yew Tien จากสิงคโปร์ Mr. Pham Hong Hai จากเวียดนาม และพลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช เป็นกรรมการจากประเทศไทย

          นอกจากนี้ ยังมีกรรมการจากประเทศที่ไม่ใช่ประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ คือ Ms.Sandra Milliken จากออสเตรเลีย Mr. Bao Yuan-Kai จากจีน และ Ms. Keiko Harada จากญี่ปุ่น หลังจากการถกกันอย่างกว้างขวางในหมู่คณะกรรมการแล้ว เพลงที่มีชื่อว่า 
"ASEAN Anthem (The ASEAN Way)" ประพันธ์โดย นายกิตติคุณ สดประเสริฐ นายสำเภา ไตรอุดม และนางพยอม วลัยพัชรา จากประเทศไทย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศเพลงประจำอาเซียน

          
เพลง "ASEAN Anthem (The ASEAN Way)" เป็น 1 ใน 10 เพลงสุดท้าย ที่ได้รับคัดเลือกจากเพลงที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 99 เพลง จากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะจัดงานเปิดตัวเพลงประจำอาเซียนขึ้น ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 ณ โรงละครอักษรา คิงส์ พาวเวอร์ คอมเพล็กซ์ และจะมีการนำเพลงประจำอาเซียนไปบรรเลงในช่วงพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่เชียงใหม่ ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551
กฎบัตรอาเซียน

          กฎบัตรอาเซียนเป็นความตกลงระหว่างประเทศสมาชิก ที่กำหนดกรอบโครงสร้างองค์กร เป้าหมาย หลักการ และกลไกที่สำคัญต่างๆ ของอาเซียน และให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียน ในการดำเนินการตามเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ.2558 สร้างกลไกที่จะส่งเสริมให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามความตกลงต่างๆ ของอาเซียน และทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น

          
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ปี พ.ศ.2546 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ปี พ.ศ.2547 ผู้นำได้เห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme –VAP) ซึ่งกำหนดมาตรการในการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการจัดทำกฎบัตรอาเซียนด้วย ซึ่งผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ปีถัดมา ได้เห็นชอบให้จัดทำกฎบัตรอาเซียนและตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียน (Eminent Persons Group on the ASEAN Charter-EPG) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการรวมตัวของอาเซียน และสาระสำคัญที่ควรมีปรากฏในกฎบัตรอาเซียน การร่างกฎบัตรอาเซียนทำกันในปี พ.ศ.2549 โดยให้คณะทำงานระดับสูง และได้เสนอให้ผู้นำอาเซียนลงนามในกฎบัตรอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ปี พ.ศ.2550
การประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 ใครเข้าร่วม ประชุมเรื่องอะไร และจัดที่ไหน

          การประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ.2552 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและเป็นภารกิจหนึ่งในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของประเทศไทย โดยมีผู้นำของประเทศสมาชิกฯ เข้าร่วมประชุม จำนวน 10 ประเทศ อาทิ ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, บรูไนดารุสซาลาม, เวียดนาม, ลาว, พม่า และกัมพูชา

                                        การประชุมอาเซียน

เสื้อผู้นำประชุมอาเซียน

          ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ.2552 ทางรัฐบาลไทยได้ประสานงานมายังทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อขอให้จัดทำเสื้อและของที่ระลึกเพื่อมอบให้กับบรรดาผู้นำประเทศและคู่สมรสที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท โดยรัฐบาลให้โจทย์กับทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงว่า จะต้องเลือกของที่ระลึกที่บ่งบอกและแสดงถึงความเป็นไทย ช่วยลดภาวะโลกร้อน

          
ซึ่งทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้เลือกผ้าฝ้ายผสมลินินตัดเย็บเป็นเสื้อเชิ้ตสีฟ้าเข้ม และเล่นลายตารางสี่เหลี่ยมสีม่วงมะปรางบริเวณด้านหน้า เพื่อให้ผู้นำประเทศสวมใส่ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

          
สำหรับของที่ระลึกสำหรับคู่สมรสของผู้นำนั้น ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้จัดเตรียมไว้ 2 แบบ คือสำหรับคู่สมรสที่เป็นผู้หญิงทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้จัดเตรียมผ้าคลุมไหล่ที่เป็นผ้าฝ้าย ชุดผ้าปูโต๊ะอาหาร และกระเป๋าสะพายผ้าฝ้าย (ชอปปิง แบ๊ก) ส่วนคู่สมรสที่เป็นผู้ชายทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้จัดเตรียมกระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก ซึ่งผลิตจากผ้าฝ้ายและเนกไท ผ้าไหม นอกจากนั้นยังได้จัดเตรียมของที่ระลึก ประกอบด้วย กล่องของขวัญที่บรรจุชุดกาแฟเซรามิกและผลิตภัณฑ์จากโครงการดอยตุง อาทิ น้ำผึ้ง ถั่วแมคคาดีเมีย กาแฟ เพื่อมอบให้กับผู้นำและคู่สมรสทุกคนด้วย

          นอกจากนี้ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ยังได้เตรียมเสื้อสูทผ้าไหม ผ้าไหมซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติ ทอด้วยลายดอกพิกุลดอกเล็กๆ และใช้สีเอิร์ธโทนที่เป็นสีธรรมชาติในการตัดเย็บ โดยในการออกแบบเสื้อนั้นได้ใช้เสื้อ "ราชปะแตน" เป็นต้นแบบและนำมาประยุกต์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ด้วยการทำคอปกตั้ง ติดกระดุมลายสัญลักษณ์การประชุมอาเซียนที่กลางลำตัวเพียงหนึ่งเม็ด และได้ตัดเย็บเสื้อเชิ้ตผ้าไหมสีครีม แขนสั้น ซึ่งจะใช้เป็นเสื้อตัวใน มอบให้กับผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทและการประชุมที่เกี่ยวข้องในเดือนเมษายนนี้
ประเทศไทยจะได้อะไรจากการประชุมอาเซียน

          
 1. เพราะประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มและผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 41 ปีที่แล้ว โดย ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ชักชวนเพื่อนรัฐมนตรีจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาร่วมหารือ และเห็นพ้องต้องกันที่ประเทศในภูมิภาคนี้ควรรวมตัวกัน เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพฯ" ที่พระราชวังสราญรมย์ (ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ต่อมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม, เวียดนาม, ลาว, พม่า และ กัมพูชา ก็ได้ทยอยเข้าเป็นสมาชิกจนครบ 10 ประเทศ ในปี พ.ศ.2552

          
 2. เพราะประเทศไทยได้เข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 และจะมีวาระไปจนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2552 การทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยในครั้งนี้ มีระยะเวลายาวนานกว่าปกติเพื่อให้สอดคล้องตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ให้อาเซียนเริ่มทำงานตามปฏิทินสากล เริ่มจากเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม แต่การดำรงตำแหน่งในคราวนี้เพิ่มอีก 6 เดือน เป็นหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งถือเป็นความไว้วางใจที่เพื่อนสมาชิกอาเซียนมอบให้แก่เรา

          
 3. เพราะว่ากฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นธรรมนูญของอาเซียน ได้มีผลใช้บังคับในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนนับตั้งแต่ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นมา กฎบัตรอาเซียนเป็นความตกลงระหว่างประเทศ สมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศที่กำหนดเป้าหมาย หลักการ โครงสร้างองค์กร และกลไกที่สำคัญ ๆ ของอาเซียน และทำให้อาเซียนมีสถานะนิติบุคคลหรือบรรลุนิติภาวะ ทั้งนี้กฎบัตรอาเซียนจะช่วย (1) เพิ่มประสิทธิภาพให้อาเซียนสามารถรวมตัวเป็นประชาคมได้สำเร็จในปี พ.ศ.2558 หรือ 7 ปีข้างหน้า (2) สร้างกลไกให้สมาชิกอาเซียนได้ปฏิบัติตามความตกลงต่างๆ ที่ได้ทำไว้ และ (3) ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชน และให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างแท้จริง

          
 4. เพราะว่าในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอยู่นี้ คนไทยก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2551 โดยจะดำรงตำแหน่งตามวาระ 5 ปี จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2555 เลขาธิการอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ประชาคมอาเซียนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

          
 5. เพราะว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนทั้งสิบจะลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน พ.ศ.2522 - พ.ศ.2558 ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อก่อตั้งอาเซียน กล่าวได้ว่า 41 ปีผ่านไป อาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่สอง จากความร่วมมือและการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ มาบัดนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะสร้างประชาคมอาเซียนให้สำเร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า ประชาคมดังกล่าวเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของอาเซียน ซึ่งนอกจากจะมีสามเสาหลัก ได้แก่ เสาหลักการเมืองและความมั่นคง เสาหลักเศรษฐกิจ และเสาหลักสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ยังมีอีกเสาหนึ่งที่หยั่งรากลึกในการปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก ไม่ว่าจะอยู่ในกรอบอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) หรือในกรอบที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งมีถึง ประเทศ ได้แก่อาเซียน 10 ประเทศ บวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาทั้งหลาย คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แคนาดา สหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ

          การเป็นประชาคมที่สมบูรณ์ จะทำให้ประเทศอาเซียนมีความมั่นคงปลอดภัย มีสันติสุข ประชาชนอาเซียน 570 คน มีโอกาสทางเศรษฐกิจ มีตลาดใหญ่ขึ้นเพื่อทำมาค้าขาย ลงทุน ทำให้มีรายได้มากขึ้น

          
 6. เพราะว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนมีความมุ่งมั่น ที่จะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาเซียนมีกฎบัตรของตัวเอง เพื่อให้อาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่กำลังหมุนตัวอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศคู่เจรจาทั้งหลาย

          
 7. เพราะอาจกล่าวได้ว่าการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งนี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ ที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ริเริ่มให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมสุดยอด ทั้งนี้จะมีการต้อนรับผู้แทน 3 กลุ่ม ได้แก่ผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน กลุ่มเยาวชนอาเซียน ผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน จากประเทศสมาชิก ให้เข้ามาพบผู้นำอาเซียนทั้งสิบประเทศ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น จากนี้ไปไทยหวังว่าเสาหลักทางด้านสังคมซึ่งมีประชาชนอาเซียนเป็นฐานที่สำคัญ จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ในกิจกรรมอาเซียน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันและช่วยกันเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง

          
 8. เพราะการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ตั้งแต่ วิกฤติการณ์น้ำมัน วิกฤติการณ์ด้านอาหาร วิกฤติการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุดคือ วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่เรียกติดปาก "วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์" ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา และลุกลามไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

          อาเซียนจะรับมืออย่างไร และไทยในฐานะประธานจะมีข้อริเริ่มอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ได้ร่วมประชุมสมัยพิเศษที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อหารือถึงมาตรการในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยข้อริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiatives-CMI) ที่ไทยได้เคยริเริ่มไว้ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า "วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง" เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จะได้รับการขยายผลและต่อยอดอีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมครั้งนี้

          
 9. เพราะว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ยังเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่นานาประเทศมีต่อไทย จึงเป็นโอกาสดีที่เพื่อนสมาชิกอาเซียนและสื่อมวลชนจากทั่วโลกจะได้มาเห็นด้วยตัวเองว่าสถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติและมีเสถียรภาพแล้ว หากจะมีการแสดงออกของกลุ่มต่างๆ ก็จะอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

          
 10. เพราะการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยในครั้งนี้ คือการกลับคืนสู่เหย้า ณ จุดกำเนิดของอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนสมาชิกรอคอย ดังนั้นอย่าให้แขกบ้านแขกเมืองของเราผิดหวัง ช่วยกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ด้วยการให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยไมตรีจิต ที่สำคัญ คือ ความประทับใจในความเป็นไทยของเรา เพราะท่านเหล่านี้จะกลับมาประเทศไทยอีกหลายครั้ง ในช่วงที่เราเป็นประธานอาเซียน จนถึงปลายเดือนธันวาคมปีนี้






ASEAN Anthem




Rise - Theme song of 13th ASEAN Summit in Singapore



14th ASEAN Summit in Thailand



16th ASEAN Summit in Vietnam




(Source : http://hilight.kapook.com/view/33110)

วันจันทร์

วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ , วิกฤติเศรษฐกิจโลก


             เมื่อประมาณสามถึงสี่เดือนสุดท้ายของปี 2007 ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ร่วงกราวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ( ซัมไพร์มมาจากภาษาอังกฤษคำว่า Sub-Prime แปลว่าคุณภาพเป็นรองหรือด้อย เรามักจะเอาคำนี้ไปขยายความ โดยการต่อข้างหน้าในคำต่างเช่น สินเชื่อคุณภาพรอง ก็เรียกว่าSub-Prime Loan หากมีสินเชื่อคุณภาพรองที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ก็เรียกว่า Sub-Prime Mortgage ) ปัญหาของสหรัฐอเมริกาเริ่มจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ที่เป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อในภาพอสังหาริมทรัพย์ ในระยะแรกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินกันว่าผลกระทบของวิกฤต Sub-Prime จะไม่รุนแรงมกนัก แต่หลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต้องตัดสินใจประกาศเทคโอเวอร์ สถาบันสินเชื่อ แฟนนี เม และเฟรดดี เมค ที่มีตัวเลขผลขาดทุนมหาศาลหลังจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯแตกลง ทั้งสองสถาบันต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์กิจการโดยรัฐบาลกลางเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างเร่งด่วน เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

                 ความเสียหายครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ คือ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย สถานการณ์ทำท่าจะกลายเป็นภาวะลูกโซ่ หลังจากนั้นตามมาด้วยสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่คือ สถาบัน Merrill Lynch ก็ถูกขายให้ธนาคารกลางของสหรัฐ ถัดมา American International Group หรือ AIA ทำท่าว่าจะล้มละลายถึงขั้นที่รัฐบาลบุชต้องเข้ามารีบอุ้ม โดยการปล่อยเงินกู้จำนวน 85,000 ล้านเหรียญ แต่ก็ดูจะไม่สามารถหยุดวิกฤตครั้งนี้ได้ เมื่อ Morgan Stanley และ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกสองแห่งก็ทำท่าว่าจะล้มตาม รัฐบาลบุชจึงต้องออกแผนอนุมัติเงินกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจเป็นจำนวนถึง 700,000 ล้านเหรียญ
ผลกระทบต่างๆจากวิกฤติครั้งนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นคือ
1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจอธิบายตามแนวคิด Globalization
2. ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก หรือระบบโลกอธิบายตาม Power transition theory และแนวคิดว่าด้วยอำนาจ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
              วิกฤตการเงินสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ดัชนีราคาหุ้นได้ตกต่ำลงอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบเข้าสู่สถาบันการเงินต่างๆทั่วโลก ปรากฏการณ์ของการขยายตัวที่ลุกลามไปทั่วโลกสามารถอธิบายได้ตามแนวคิดโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization ได้ดังนี้
              แนวคิด Globalization นี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหลังจากครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 201 ซึ่งในขณะนั้นแนวความคิดโลกาภิวัตน์มุ่งอยู่กับทางด้านการเงิน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสองมิติคือ อย่างแรก การเพิ่มจำนวนของการค้าระหว่างประเทศ สองคือการเพิ่มการหลั่งไหลของการอพยพผู้คน อย่างไรก็ตามนักวิชาการมากมายพยายามให้ความหมายของ Globalization หรือโลกาภิวัตน์ ไว้ต่างๆกัน เช่น เจมส์ รอสนาว (James N.Rosenau ) นักวิชาการอาวุธโสแขนงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ให้ความหมายแก่โลกาภิวัตน์ว่า คือ “การที่คน กิจกรรม บรรทัดฐาน ความคิด สินค้า บริการ เงินตรา ฯลฯ ลดบทบาทที่เคยอยู่ภายใต้ความจำกัดของขอบเขตทางภูมิศาสตร์ หรือเคยมีวิธีปฏบัติดั้งเดิมที่แตกต่างกันให้มาอยู่ร่วมกันในขอบเขตระดับโลก และมีวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกัน”
ซูซาน สเตรนจ์ (Susan Strange) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองให้คำอธิบายโลกาภิวัตน์ว่า
          1. คือการมีสินค้าในตลาดโลก ซึ่งร่วมกันผลิตโดยบุคคลจากหลายประเทศ
          2. คือการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการผลิตและการค้าสินค้า และบริการในระดับข้ามชาติในอัตราที่ขยายตัวกว่าเดิมมาก เพราะมีหลายชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลให้เกิดทั้งกำไรและขาดทุนในวงเงินที่สูงมาก
          3. โลกาภิวัตน์ คือการปรับเปลี่ยนความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ รสนิยม ให้เข้ามารวมเป็นแบบเดียวกันในระดับโลก
                        นอกจากนี้ นักวิชาการไทย สมพงษ์ ชูมาก ได้กล่าวถึง โลกาภิวัตน์ ไว้ว่า คือระบบเศรษฐกิจ การค้า และการเงินระหว่างประเทศไร้พรมแดน สภาพเช่นนี้เริ่มมองเห็นได้ชัดในทศวรรษ1980 เพราะได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติทางคอมพิวเตอร์ และระบบอิเล็คทรอนิคส์ ซึ่งมีผลทำให้การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ ข่าวสารระหว่างประเทศต่างๆ ในทั่วทุกภูมิภาคของโลกถึงกันอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวของเงินตราและทุนก็เป็นไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก และในจำนวนมหาศาล โดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ประกอบกับทางด้านการผลิต และการค้าระหว่างประเทศเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจเสรีที่ยอมรับกันทั่วโลก และดำเนินไปโดยไร้พรมแดน

                        ในเรื่องโลกาภิวัตน์ ยังมีรายละเอียดข้อถกเถียงกันอยู่อีกพอสมควรโดยข้อถกเถียงต่างๆเกิดจากจุดยืนความเชื่อที่แตกต่างกันในเรื่องโลกาภิวัตน์ โดยเราสามารถแบ่งจุดยืนของความเชื่อโลกาภิวัตน์ได้เป็น 3 จุดยืน
           1. จุดยืนแรก คือจุดยืนของพวก Hyper globalist หรือ globalist หรือglobalizer หรืออาจเรียกพวกกลุ่มนี้ว่าพวกโลกานิยม พวกนี้เชื่อในโลกาภิวัตน์แบบสุดโต่ง โดยเห็นว่า โลกาภิวัตน์ เป็นพัฒนาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถที่จะต้านทานและแทรกแซงได้จากนมนุษย์ โดยเฉพาะจากสถาบันทางการเมืองแบบเดิมเช่น รัฐชาติ นักคือในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 พวกคือ

           – พวกโลกานิยมสายเสรีนิยมใหม่ พวกนี้มองในด้านบวกโดยเห็นว่าโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งดี การแข่งขันในเศรษฐกิจโลกไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่ในสภาพรวมโดยเทียบเคียงแล้วทุกประเทศได้รับประโยชน์มากกว่า โลกาภิวัตน์นำมาสู่การกำเนินของอารยธรรมโลกอย่างแท้จริง

           – พวกโลกานิยมสายมาร์กซิสใหม่ หรือ พวกโลกานิยมด้านลบ แต่โดยหลักยังเชื่อคล้ายพวกเสรีนิยมใหม่ว่าโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจในลักษณะการบูรณาการที่มีผลกระทบต่อรัฐชาติ แต่จะมองในแง่ร้ายว่าทำให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างประเทศต่างๆ ผลประโยชน์ต่างๆจะถูกครอบงำโดยกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ

           2. จุดยืนที่สอง ได้แก่พวก Skepitcs หรือ anti-globalizer หรืออาจเรียกได้ว่า พวกขี้สงสัย พวกนี้มีจุดยืนตรงข้ามกับพวกโลกานิยม เห็นว่าโลกาภิวัตน์เป็นเพียงแค่การสร้างอุดมการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบตลาดเสรีของโลกในลักษณะของเสรีนิยมใหม่ และจะมีผลทำหระบบทุนนิยมตะวันตกมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เท่ากับว่าโลกาภิวัตน์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับจักรวรรดินิยมซึ่งพวกนี้ก็สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

           – พวกขี้สงสัยสายมาร์กซิสต์ ไม่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์และเห็นว่าเป็นรูปแบบของจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งขยายตลาดตามตรรกะของทุนนิยมที่ต้องการขยายความสัมพันธ์ของทุนนิยมให้เข้าไปสู่ทุกจุดในภูมิศาสตร์

           – พวก skeptics สายสัจนิยมแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่า อย่างไรก็ตามเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคม จะขึ้นอยู่กับอภิมหาอำนาจ ดังนั้นกระบวนการนี้ก็จะไม่ได้คงอยู่เสมอไป เพราะจะมีการช่วงชิงระหว่างรัฐในการเป็นมหาอำนาจและมหาอำนาจจะมีการเปลี่ยนมืออยู่ตลอดเวลาดังนั้นบทบาทของรัฐชาติจะยังคงมีอยู่สูง และเราจะไม่ควรที่จะอ้างให้ความสำคัญแก่โลกาภิวัตน์มากเกินไป

           3. จุดยืนที่สาม ได้แก่ พวก transformationalist หรือเรียกว่าพวกแปลงสัฯฐาน พวกนี้จะมีจุดยืนตรงกลางระหว่างพวกโลกานิยมและพวกขี้สงสัย พวกนี้เห็นว่าโลกาภิวัตน์ได้เกิดขึ้นจริง แต่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นไปในทางใด พวกนี้เสนอแนวคิด “ระบอบอธิปไตยใหม่” ที่ละทิ้งอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบเดิม มาสู่อำนาจอธิปไตยที่ผูกพันอยู่กับดินแดนของรัฐน้อยลงแต่ไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้ามชาติอันซับซ้อน
           อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าในปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธโลกาภิวัตน์ได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในยุคปัจจุยันถึงแม้จะมีข้อถกเถียง จุดยืน และการให้ความหมายคำนิยามของคำว่าโลกาวัตน์แตกออกไปและใช้อธิบายในหลายสาขาก็ตาม เมื่อโลกทั้งโลกถูกเชื่อต่อกันตามแนวความคิดโลกาภิวัตน์จิงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การกระทของตัวแสดงหนึ่งในระบบระหว่างประเทศจะส่งผลถึงตัวแสดงอื่นๆในที่สุด (ไม่มากก็น้อย)  เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในยุคหลังสงครามเย็นได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวอย่างเต็มตัว ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ ทหาร และวัฒนธรรม บทบาทของสหรัฐอเมริกาหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตมักถูกเรียกขานจากประชาคมโลกว่าเป็น จักรวรรดินิยมใหม่ ควบคู่ไปกับกระแสการเกิดขึ้นของโลกาภิวัตน์ หรืออีกด้านหนึ่งคือสภาวะโลกาภิวัตน์เป็นตัวช่วยนำทุนนิยมเสรีของอเมริกาขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก จำนวนการกระจายการค้าและบริการนั้นสู่งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยเฉพาะในด้านของการไหลเวียนของเงินทุน และมีผลต่อการจัดการเศรษฐกิจในประเทศของแต่ละรัฐ
            ปัญหาคือ การหมุนเวียนจำนวนเงินที่มหาศาลอย่างง่ายดายนี้สามารถไปสั่นคลอนฐานทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และเมื่อการหมุนเวียนมีการแปรปรวนเกิดขึ้น ความแปรปรวนนี้จะเป้นภัยคุกคามที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์การเงินในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980 , วิกฤตการณ์อัตราและเปลี่ยนค่าเงินในยุโรป ปี 1992 , วิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปี 1997 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศอย่างไร และที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่วิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะตามมาในไม่ช้าหากแต่ละประเทศยังมีการเตรียมพร้อมรับมือที่ดีพอ
             วิกฤตสภาบันการเงินของสหรัฐในปี 2008 นี้ได้ส่งผลให้ธนาคารและวานิชธนกิจหลายแห่งล้มละลายหรือถูกแปรสภาพโครงสร้างธุรกิจโดยมีรัฐบาลเข้าไปถือหุ้นมากขึ้น ได้ขยายผลกระทบจากภาคการเงินสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแยกไม่ออกและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว ไม่เพียงภาวะการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงแต่ภาวะสินเชื่อตึงตัวและตลาดหุ้นที่ดำดิ่งตามข่าวร้ายทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ทำให้มีการลดกำลังการผลิต และลอยแพคนงานจำนวนมากทั้งในภาคการเงินและอุตสาหกรรมการผลิต เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจะส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกถดถอยไปด้วย โดยเฉพาะการถดถอยของการบริโภคในสหรัฐ จะส่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ และการลงทุนของสหรัฐในประเทศต่างๆอีกด้วย

              ผลกระทบของเศรษฐกิจในวงกว้างเห็นได้ชัดว่า ในช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี จะมีการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ สำหรับการประชุมครั้งนี้เรื่องที่สำคัญที่สุดคือวิกฤตการเงินของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศต่างๆออกมาในแนวทางเดียวกันคือวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลบุช และกังต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประธานาธิบดี Niccolo Sarkozy ของฝรั่งเศสได้เสนอที่จะพัฒนาระบบการควบคุมตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งผู้นำหลายประเทศก็ออกมาสนับสนุน สำหรับเลขาธิการสหประชาชาติ Ban ki Moon ก็ได้กล่าวว่าวิกฤตครั้งนี้กระทบต่องานของ UN เป็นอย่างมากโดยเฉพาะแผนให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนและยังกล่าวโจมตีแนวนโยบายที่สหรัฐสนับสนุนมาโดยตลอด คือ หลักการกลไกตลาดเสรี5 ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนรวมถึงผู้เขียนมองว่า ทางออกคือการเน้นนโยบายเข้าควบคุมสถาบันการเงินและการปฏิรูประบบการเงิน หลักการฉันทามติวอชิงตันที่เน้นกลไกการเปิดตลาดเสรีกำลังถูกสั่นคลอน แนวโน้มต่อไปคือการเข้ามามีบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจและปัญหาในระยะยาวคืออาจนำไปสู่กระแสกีดกันทางการค้าขึ้นมาอีกได้

ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.chuaichart.com/about/mission/reason/

ความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างอาเซียนและไทย


  • ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง
           - อาเซียนมีความร่วมมือเพื่อธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค เช่น การจัดทำปฏิญญากำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง  หรือ Zone of Peace,Freedom and Neutrality (ZOPFAN) ในปี 2514 การจัดทำสนธิสัญญาไมตรี และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Treaty of Amity and Cooperation  (TAC) ในปี 2519  สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) และการริเริ่มการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ASEAN Regional Forum (ARF) เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิกซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกในปี 2537

                  - ไทยได้เสนอแนวคิดเรื่อง ASEAN Troika  ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ปี 2542  ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ASEAN Troika ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศที่เป็นประธานอาเซียน ประเทศที่เป็นประธานอาเซียน ประเทศที่เป็นประธานก่อนหน้านั้น  และประเทศที่จะเป็นประธานต่อไป เพื่อเป็นกลไกในการหารือแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคโดยไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิกดังเช่นต่อมา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นในสหรัฐอเมริกา แนวคิดเรื่อง ASEAN Troika กลายเป็นกลไกรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจกระทบต่อประเทศสมาชิกและภูมิภาคทำให้การจัดตั้ง ASEAN Troika ของไทยช่วยปรับปรุงการทำงานของอาเซียนให้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อให้อาเซียนได้ร่วมหารือและประสานความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและทันต่อเหตุการณ์
  • ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

                อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ฯพณฯ อานันท์  ปันยารชุน ได้เสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ ASEAN Free Trade Area (AFTA) ในปี 2535 เพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน อันจะช่วยส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิตสินค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ต่อมา อาเซียนได้ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบและมีทิศทางชัดเจน โดยจัดตั้งเขตลงทุนอาเซียน หรือ ASEAN Investment Area (AIA) ในปี 2541 เพื่อส่งเสริมการลงทุนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ส่งเสริมการเปิดการค้าเสรี การท่องเที่ยว การเงิน การเกษตร และสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งโดยไทยได้เสนอให้จัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนและข้ามแดน นโยบายของไทยต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ คือผลักดันให้อาเซียนมุ่งปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ
  • ความร่วมมือด้านสังคมและความร่วมมือเฉพาะด้าน

                     - เป็นความร่วมมือในด้านอื่นที่มิใช่ด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ แรงงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข วัฒนธรรมและสารสนเทศ การศึกษาการขจัดความยากจน การพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน การพัฒนาชนบท การพัฒนาและส่งเสริมสวัสดิการสังคม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม  และการจัดการด้านภัยพิบัติ เป็นต้น
                     - ไทยเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือด้านสังคมเพื่อสันติสุขในภูมิภาค จึงสนับสนุนให้อาเซียนกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย การค้าอาวุธ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและคอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเป็นกลไก ลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกเก่าและใหม่ของอาเซียนซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน
                    - ไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ ASEAN University Network (AUN) เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาค ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้ตั้ง “มูลนิธิอาเซียน” หรือ ASEAN Foundation เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งยังได้สนับสนุนการจัดทำโครงข่ายรองรับทางสังคม หรือ Social safety nets เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมจากวิกฤตเศรษฐกิจ
                    -  ปี 2544 ไทยผลักดันให้อาเซียนมีมติรับรองการจัดให้มีปีแห่งการปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติดในอาเซียน ระหว่างปี 2545-2546 และสนับสนุนให้มีประชุมยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 รับรองปฏิญญาว่าด้วยเชื้อ HIV เนื่องจากไทยสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาเสพติดปัญหาโรคเอดส์และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระดับภูมิภาค
  •  ความร่วมมือกับประเทศภายนอกอาเซียน

                      ไทยมีบทบาทสนับสนุนให้อาเซียนมีความร่วมมือกับประเทศนอกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นดังปรากฏในรูปของความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN plus 3) ซึ่งประกอบประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับญี่ปุ่น จีน และสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งได้ทำการสถาปนาความสัมพันธ์ในลักษณะของประเทศคู่เจรจา ( ASEAN plus 1) กับอีก 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และรัสเซีย และมีความร่วมมือกับหนึ่งกลุ่มประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ คือ โครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มีความสัมพันธ์เฉพาะด้าน (sectoral dialogue) กับปากีสถาน และมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ขององค์การสหประชาชาติด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทวีปเอเชียกับประเทศไทย

             ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียกับประเทศไทย หรือระหว่างประเทศกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียมีอยู่หลาย ๆ ด้าน หลายรูปแบบและหลายระดับ โดยจะปรากฏเด่นชัดเป็นทางการในรูปแบบทางการทูต สถานกงสุล ความสัมพันธ์ดังกล่าว เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่งเทคโนโลยี เป็นต้น

         โดยความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าขายจะเด่นชัด และสำคัญที่สุดประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในทวีปเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง (จีน) จีน ไต้หวัน และมาเลเซีย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว กัมพูชา และพม่า ก็มีการค้าขายตามแนวชายแดนเนื่องจากการค้าขายระหว่างประเทศเป็นกิจกรรมหลักของระบบเศรษฐกิจทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

            ท้ายที่สุดส่งผลต่อระดับการพัฒนาประเทศ การเรียนรู้ประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ทั้งทางลักษณะธรรมชาติ ประชากร และระบบวัฒนธรรมน่าจะช่วยให้เข้าใจสภาพที่เป็นจริงของประเทศนั้นๆ สามารถที่จะคาดคะเนหรือประเมินสถานการณ์ในการดำเนินความสัมพันธ์ได้อย่าง เหมาะสมและเกิดประโยชน์กับประเทศไทยได้มาก 


(Source : http://www.siwaporn.net)

การแบ่งภูมิภาคของทวีปเอเชีย




      คำว่า ภูมิภาค (region) คือ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่คล้าย คลึงกัน และสามารถแบ่งแยกออกจากพื้นที่โดยรอบได้ เช่น มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกัน อาทิภาคเหนือของประเทศไทยมีภูมิประเทศหลักเป็นเทือกเขาสูงแทรกสลับด้วยแอ่ง ที่ราบเหมือนกันทั้ง 9 จังหวัด หรือภาคกลางมีภูมิประเทศหลักเป็นที่ราบเหมือนกันทั้ง 22 จังหวัด เป็นต้น ดังนั้นแบ่งภูมิภาคจึงแบ่งได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเกณฑ์ที่ ใช้แบ่ง นอกจากนี้ภูมิภาคยังมีขนาดพื้นที่หรือขอบเขตที่แตกต่างกันไป

      ในทวีปเอเชียจำแนกภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ออกได้เป็น 6 ภูมิภาค โดยใช้สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นตัวแบ่ง ซึ่งพิจารณาจากระบบธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เป็นต้นระบบมนุษย์ เช่น เรื่องของรูปร่างหน้าตา สีผิว เป็นต้น และเรื่องของระบบวัฒนธรรม เช่น ภาษา ศาสนา กิจกรรม เศรษฐกิจ เป็นต้น

      ภูมิภาคของทวีปเอเชียมี 6 ภูมิภาค ดังนี้
  1. ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประกอบด้วยประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ มองโกเลีย และไต้หวัน
  2. ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย
    ติมอร์-เลสเต (ติมอร์ตะวันออก) สิงคโปร์ บรูไน และฟิลิปปินส์
  3. ภูมิภาคเอเชียใต้ ประกอบด้วย ประเทศ อินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ ปากีสถาน เนปาล ภูฎาน และบังกลาเทศ
  4. ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก ซีเรีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย โอมาน เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาหร์เรน กาตาร์ เลบานอน คูเวต จอร์แดน ไซปรัส และอิสราเอล
  5. ภูมิภาคเอเชียกลาง ประกอบด้วย ประเทศคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อาร์เมเนีย จอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน
    ทาจิกิสถาน และคีร์กีซ
  6. ภูมิภาคเอเชียเหนือ ได้แก่ ประเทศรัสเซีย ในส่วนที่อยู่ทวีปเอเชีย โดยใช้แนวของเทือกเขาอูราลเป็นแนวแบ่งเขตแยกออกจากทวีปยุโรป 

(Source : http://www.siwaporn.net)

    Arab League

    Arab League
    สันนิบาตอาหรับ
               สันนิบาตอาหรับ เป็นการรวมกลุ่มระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และแอฟริกาตอนเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2488 ปัจจุบันมีสมาชิก 20 ประเทศ ได้แก่ ซีเรีย เลบานอน อิรัก จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย เยเมน ลิเบีย ซูดาน ตูนิเซีย โมร็อกโก คูเวต แอลจิเรีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย โซมาเลีย ปาเลสไตน์ และจิบูตี มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคง ร่วมมือกันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งในเรื่องของน้ำมัน การศึกษาวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์  


    (Source : http://www.siwaporn.net)