The Association of Southeast Asian Nations : ASEAN
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
(Source : http://www.siwaporn.net)
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Association of Southeast Asian Nations : ASEAN
Association of Southeast Asian Nations : ASEAN
ประวัติการก่อตั้ง
เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต้องการจะสร้างสันติภาพและความมั่นคงให้แก่ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามร่วมกันขจัดปัญหาความแตกต่างทางการเมือง และการร่วมมือช่วยเหลือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จึงได้คิดก่อตั้งสมาคมขึ้น โดยไม่มีประเทศมหาอำนาจอยู่เบื้องหลัง และใช้ชื่อสมาคมนี้ว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อ พ.ศ. 2510 ต่อมาได้ประเทศอื่นๆ เข้าเป็นสมาชิกตามลำดับดังนี้
เดือนมกราคม พ.ศ.2527 รับประเทศบรูไนเข้าเป็นสมาชิก
เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2538 รับประเทศเวียดนามเข้าเป็นสมาชิก
พ.ศ. 2540 รับประเทศพม่า และลาว และวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2542 รับประเทศกัมพูชาเป็นสมาชิกประเทศสุดท้าย รวมประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ
มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง
1. เพื่อร่วมมือช่วยเหลือกันในการเร่งรัดพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความกว้าหน้าทางสังคม วัฒนธรรมของประเทศสมาชิก
2. เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงให้แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. เพื่อให้ความร่วมมือในการส่งเสริมด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการคมนาคมขนส่ง
4. เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านการศึกษา วิทยาการ อาชีพ และการบริหาร
ผลการปฏิบัติงาน
จากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกของอาเซียน ตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน อาเซียนได้ปฏิบัติงานตามโครงการเพื่อสนองวัตถุประสงค์ โดยจัดให้มีโครงการดำเนินการผลิตสินค้าทางอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่าย ซึ่งแบ่งการรับผิดชอบออกเป็นประเทศ เช่น การผลิตปุ๋ยยูเรียเป็นโครงการของประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย การผลิตเวชภัณฑ์เป็นโครงการของประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
มีการจัดตั้งหน่วยงานสำรองข้าวยามฉุกเฉินในประเทศสมาชิก เพื่อเตรียมรับภัยพิบัติที่อาจเกิดจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือทางด้านสังคม เช่น ด้านความร่วมมือของสตรี อาเซียนได้จัดตั้งโครงการสตรีอาเซียนขึ้น เพื่อให้สตรีอาเซียนได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทของสตรีต่อการพัฒนาสังคม สาธารณสุข และโภชนาการ เพื่อเสริมสร้างพลานามัย และให้ความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับเยาวชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างเยาวชนของประเทศสมาชิก โดยจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการมหกรรมเยาวชนอาเเซียน โครงการมิตรภาพ โครงการเรือเยาวชนอาเซียน เป็นต้น
อาเซียนได้จัดความร่วมมือในด้านวัฒนธรรมและสนเทศ เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ไว้หลายโครงการ เช่น ด้านภาพยนตร์ จัดให้มีงานมหกรรมภาพยนตร์ประจำปีอาเซียน ด้านดนตรี มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางดนตรีสำหรับเยาวชนอาเซียน ด้านศิลปะการแสดงมีการแลกเปลี่ยนนักแสดง และการแสดงวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกตามโครงการแลกเปลี่ยนศิลปิน จัดเป็นงานมหากรรมนาฏศิลป์อาเซียนและงานมหกรรมดนตรีอาเซียน ด้านการต่อต้านยาเสพติด โดยการลงนามในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยหลักในการต่อต้านการใช้ยาเสพติด
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน นับว่าเป็นผลดีต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถต่อรองทางด้านทางการค้ากับประเทศสมาชิก นอกจากนี้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน ได้ยึดหลักความถนัดในการผลิต หรือการแบ่งประเภทอุตสาหกรรมให้ประเทศสมาชิกทำการผลิตโดยไม่มีการผลิตแข่งขันกัน ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน ดังนี้
1. ด้านการค้า ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้าด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร หรือยกเว้นภาษีที่ประเทศไทยส่งไปขายยังประเทศสมาชิกสำหรับสินค้าบางประเภท เช่นเดียวกับที่ประเทศสมาชิกได้รับจากประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงของเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (AFTA : ASEAN Free Trade Area)
2. ด้านอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับอาเซียนในการจัดตั้งโครงการอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าสำหรับทดแทนสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาเซียนได้เลือกอุตสาหกรรมหลักให้ประเทศสมาชิกเลือกทำการผลิต คือ ประเทศไทยผลิตเกลือหินและโซดาแอช อินโดนีเซียและมาเลเซียผลิตปุ๋ยยูเรีย สิงคโปร์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และฟิลิปปินส์ผลิตปุ๋ยฟอสเฟต โครงการนี้ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลง คือ ไทยเปลี่ยนเป็นผลิตแร่โพแทช สิงคโปร์ยกเลิกโครงการ ฟิลิปปินส์เปลี่ยนเป็นผลิตทองแดงแปรรูป ส่วนอินโดนีเซียและมาเลเซียยังคงผลิตปุ๋ยยูเรียตามเดิม ซึ่งการร่วมมือนี้เป็นการร่วมมือระดับรัฐบาล ส่วนภาคเอกชนก็มีการร่วมมือกันในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยการแบ่งการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ตามความถนัดของแต่ละประเทศ และต่อมามีโครงการแบ่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยผู้ผลิตจะต้องเป็นบริษัทเอกชนอย่างน้อย 2 บริษัท จากประเทศสมาชิกอย่างน้อย 2 ประเทศ
3. ด้านการคลังและการธนาคาร นโยบายด้านการคลังและการธนาคาร ประเทศสมาชิกได้ตกลงร่วมมือกันในด้านการจัดตั้งตลาดตั๋วเงินที่ธนาคารรับรอง จัดตั้งบรรษัทการเงินอาเซียน จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการประกันภัยแห่งอาเซียน จัดตั้งกลไกยกเว้นการเก็บภาษีและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน และร่วมมือกับประชาคมยุโรปในการจัดตั้งกองทุนร่วมเพื่อการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับอีอีซี
4. ด้านการเกษตร อาเซียนได้มีการร่วมมือกันทางด้านการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก นโยบายด้านการเกษตรได้ดำเนินการไปหลายโครงการ เช่น โครงการการสำรองอาหารเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามขาดแคลนในเวลาฉุกเฉิน โครงการจัดตั้งศูนย์วางแผนพัฒนาการเกษตรของอาเซียน โครงการจัดการเกี่ยวกับอาหารภายใต้ความร่วมมือของอาเซียน-ออสเตรเลีย โครงการเทคโนโลยีการประมงภายใต้ความร่วมมือของอาเซียน-แคนาดา โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายใต้ความร่วมมือของอาเซียน-อีซี โครงการจัดตั้งด่านกักกันโรคพืชและสัตว์ในภูมิภาคอาเซียน โครงการตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ไม้ป่า โครงการอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำลำธาร โครงการปลูกป่า และโครงการตลาดของทรัพยากรป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นที่อยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงอีกมาก
5. ด้านการขนส่งและคมนาคม เป็นนโยบายที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านการขนส่งทางบก การเดินเรือและการท่าเรือ การบินพลเรือน การไปรษณีย์และโทรคมนาคม
6. ด้านการเมือง ความสามัคคีระหว่างประเทศสมาชิกของอาเซียนในการแก้ปัญหาอินโดจีน ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจและช่วยเหลืออินโดจีนมากขึ้น และยังช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพอีกด้วย
7. ด้านวัฒนธรรม ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น